รำสีนวล
“สีนวล” เป็นชื่อของเพลงหน้าพาทย์ที่จะใช้บรรเลงประกอบการแสดงละคร โดยจะใช้ประกอบกิริยาท่าทางของหญิงสาวที่มีมารยาทอ่อนช้อยงดงาม
ทำนองเพลงมีท่วงทีซ่อนความพริ้งเพราเอาไว้ในตัว ต่อมามีผู้ประดิษฐ์คำร้องประกอบการรำ ซึ่งแต่เดิมรำสีนวลนั้นเป็นการแสดงชุดหนึ่งที่นำมาจากละครนอกเรื่องไชยเชษฐ์ ภายหลังได้มีการนำมาใช้แสดงเป็นระบำเบ็ดเตล็ดเนื่องจากว่าการรำสีนวลเป็นศิลปะที่สวยงามทั้งท่ารำและเพลงขับร้อง จึงได้มีการพัฒนามาเป็นชุดสำหรับจัดแสดงในงานทั่วๆไปและนับเป็นการแสดงนาฏศิลป์ไทยอีกชุดหนึ่งที่ได้รับความนิยมแพร่หลายเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง
ลักษณะท่ารำและคำร้องของรำสีนวลมีความหมายถึงการบันเทิงรื่นรมย์ของหญิงสาวแรกรุ่นที่มีกิริยางดงาม อ่อนหวาน และมีอิริยาบถที่นุ่มนวลอ่อนช้อยตามลักษณะกุลสตรีไทย
ประวัติรำสีนวล
เป็นลีลาท่าทางการร่ายรำในศิลปะแบบพื้นเมืองของไทยที่แสดงถึงบรรยากาศรื่นเริง สนุกสนาน ในบทร้องจะมีความหมายเกี่ยวกับสีสันที่สวยงามของธรรมชาติ เนื่องจากเป็นชุดที่มีเนื้อเพลงสั้นกะทัดรัดและท่ารำง่าย จึงนิยมนำมาฝึกหัดกันและใช้แสดงเป็นหมู่คณะ
การแต่งกายสามารถแต่งได้หลายแบบ เพลงที่จะบรรเลงออกตอนท้ายจะใช้อยู่หลายประเภท เช่น ออกด้วยเพลงเร็ว – ลา, ออกด้วยวรเชษฐ์และออกด้วยเพลงสีนวลอาหนู 2 ชั้น ซึ่งเป็นเพลงจีนของเก่าที่ได้ดัดแปลงมาจากเพลงจีนเพลงหนึ่ง
ทราบกันว่าครูปุย ปาบุยะวาทย์ เป็นผู้แต่งทำนองเพลงและท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี นำเอาเพลงอาหนูมาประดิษฐ์ท่ารำให้เข้ากับบทร้องและทำนองใช้รำต่อจากรำสีนวล เรียกว่า “สีนวลออกอาหนู”
ดนตรี ที่ใช้บรรเลงประกอบการแสดง ใช้วงปี่พาทย์เครื่องห้า เครื่องคู่หรือเครื่องใหญ่ บรรเลงทำนองเพลงสีนวล และ เพลงเร็ว-ลา
ลักษณะการแต่งกาย ผู้แสดงนุ่งผ้าโจงกระเบน ห่มสไบจีบ สยายผมทัดดอกไม้ใส่เครื่องประดับ สร้อยคอ ตุ้มหู สร้อยตัว เข็มขัดพร้อมหัวเข็มขัด รัดต้นแขน สร้อยข้อมือ และกำไลข้อเท้า
โอกาสที่ใช้แสดง ใช้แสดงประกอบละครนอกเรื่อง "ไชยเชษฐ์" และใช้แสดงในงานมงคลต่าง ๆ แสดงเป็นหมู่หรือแสดงเดี่ยว ตามโอกาสที่เหมาะสม เช่น งานรื่นเริง งานเลี้ยงสังสรรค์ งานเทศกาลสำคัญ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น